ประวัติสถานี

ประวัติความเป็นมาของ สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน

ที่มา

        เดิมเขตอำนาจความรับผิดชอบ และเขตพื้นที่การปกครองของสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน เป็นส่วนหนึ่งของเขตอำนาจการรับผิดชอบ และพื้นที่การปกครองของสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางมาก ต่อมาเมื่อมีความเจริญด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งจำนวนประชากรมีจำนวนทวีมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้น ตลอดจนอาคารบ้านเรือนสิ่งปลูกสร้างต่างๆ มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามอัตราการเพิ่มของประชากร ซึ่งเกินขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีปริมาณจำกัดในอันที่จะรักษาความสงบเรียบร้อย และไม่เพียงพอกับความต้องการในการให้บริการประชาชนให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและทั่วถึง

        กระทรวงมหาดไทยจึงมีคำสั่งให้แบ่งเขตอำนาจความรับผิดชอบ และเขตพื้นที่ปกครองของ สถานีตำรวจนครบาลในกรุงเทพมหานคร และยกฐานะกิ่งสถานีตำรวจนครบาล ให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับสถานีตำรวจนครบาล

        จากการแบ่งเขตอำนาจรับผิดชอบ และพื้นที่ปกครอง ทำให้สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ แบ่งเขตความรับผิดชอบ และพื้นที่การปกครองเป็น 3 สถานีตำรวจนครบาล ดังนี้

1.สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ

2.สถานีตำรวจนครบาลสุทธิสาร

3.สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน

        สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน ได้เปิดทำการเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2520 เป็นต้นมา โดยมีสายบังคับตามลำดับชั้นขึ้นตรงต่อ กองกำกับการตำรวจนครบาล 4 กองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ กองบัญชาการตำรวจนครบาล แต่ปัจจุบันได้ปรับโครงสร้างใหม่ เพื่อตัดขั้นตอนการปฏิบัติให้สั้นลง โดยยกฐานะ สถานีตำรวจนครบาลขึ้นเป็น กองกำกับการ และมีการปรับโครงสร้างจากกองบังคับการตำรวจนครบาลเหนือ เป็นกองบังคับการตำรวจนครบาล 1-9 แทน โดยสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน มีสายบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อกองการตำรวจนครบาล 2 ตั้งแต่ วันที่ 1 มิถุนายน 2540

        อดีต สถานที่ทำการ สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน เช่าตึกแถว 2 คูหา 3 ชั้น เลขที่ 2101/63-64 ซึ่งตั้งอยู่หลังโรงภาพยนตร์อมรพันธ์รามา สามแยกเกษตร ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร เป็นที่ทำการชั่วคราว มีบริเวณที่ทำการ กว่าง 7 เมตร ลึกประมาณ 8 เมตร โดยเช่าที่ทำการจาก นายกำแพง เพลินธรรม ในอัตราเช่าเดือนละ 7,000 บาท โดยใช้งบประมาณค่าเช่าจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล

        ปัจจุบัน  เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2532 ได้ย้ายที่ทำการใหม่ โดยเช่าที่จากการรถไฟแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่บริเวณแยกรัชโยธิน เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่เศษ ด้านหน้าของสถานีตำรวจติดกับถนนรัชดาภิเษก และด้านข้างติดกับถนนพหลโยธิน ซึ่งสะดวก และง่ายต่อการติดต่อราชการ

พื้นที่ + ประชากร

พื้นที่รับผิดชอบ

        สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน ตั้งอยู่เลขที่ 95 ถนนรัชดาภิเษก แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

มีพื้นที่ 13.42 ตารางกิโลเมตร

ทิศเหนือ เริ่มจากที่ขอบบริเวณด้านนอกถนนงามวงศ์วานฟากใต้ บรรจบกับขอบทางด้านนอกของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 (ถนนวิภาวดีรังสิต) ฟากตะวันตกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ตามแนวขอบทางเท้าด้านนอกของถนนงามวงศ์วานฟากใต้ไปทางทิศตะวันออกตามแนวทางเท้าด้านนอกของถนนเกษตรนวมินทร์ฟากใต้จนบรรจบกับริมฝั่งคลองลาดพร้าวฝั่งตะวันตก

ทิศตะวันออก เริ่มจากบริเวณที่ริมฝั่งคลองลาดพร้าวฝั่งตะวันตกบรรจบกับขอบทางเดินเท้าด้านนอกของถนนเกษตรนวมินทร์ฟากใต้ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เลียบไปตามริมฝั่งคลองลาดพร้าวฝั่งตะวันตกจนบรรจบกับขอบทางเท้าด้านนอกของถนนลาดพร้าว ฟากใต้

ทิศตะวันตก เริ่มจากบริเวณที่ขอบทางด้านนอกของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 (ถนนวิภาวดีรังสิต) ฟากตะวันตก ไปทางทิศเหนือ ตามแนวขอบทางเท้าด้านนอกของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 (ถนนวิภาวดีรังสิต) ฟากตะวันตก จนบรรจบกับขอบทางเท้าด้านนอกของถนนงามวงศ์วาน ฝากใต้

ทิศใต้ เริ่มจากบริเวณขอบทางเท้าด้านนอกของถนนลาดพร้าว ฟากใต้บรรจบกับริมฝั่งคลองลาดพร้าวฝั่งตะวันตก ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือตามแนวขอบทางเท้าด้านนอกของถนนลาดพร้าว ฟากใต้บรรจบกับของทางเท้าด้านนอกของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ฟากตะวันออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตามแนวขอบทางเท้าด้านนอกของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ฟากตะวันตก บรรจบกับขอบทางเท้าด้านนอกของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 (ถนนวิภาวดีรังสิต) ฟากตะวันตก

เขตพื้นที่ สน.พหลโยธิน เมื่อแบ่งเขตการปกครองของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย

1.แขวงลาดยาว  เขตจตุจักร 

2.แขวงสามเสนนอก  เขตห้วยขวาง 

3.แขวงจตุจักร  เขตจตุจักร

4.แขวงจอมพล  เขตจตุจักร

5.แขวงจันทรเกษม  เขตจตุจักร

 

การกำหนดอำนาจหน้าที่ของตำแหน่งในสถานีตำรวจ

ลักษณะงานในสถานีตำรวจ

ให้แบ่งงานในสถานีตำรวจนครบาลและสถานีภูธรเป็น 5 งาน คือ งานอำนวยการ งานป้องกันปราบปราม งานจราจร งานสืบสวน งานสอบสวน

กำหนดหัวหน้างานในสถานีตำรวจ

สถานีตำรวจที่มีหัวหน้าสถานีตำรวจเป็นระดับตำแหน่ง ผู้กำกับการ ตามโครงสร้างสถานีตำรวจรูปแบบที่ 1 กำหนดให้

1.รองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม เป็นหัวหน้างานอำนวยการ และงานป้องกันปราบปราม

2.รองผู้กำกับการจราจร เป็นหัวหน้างานจราจร

3.รองผู้กำกับการสืบสวนเป็นหัวหน้างานสืบสวน

4.พนักงานสอบสวนที่มีระดับตำแหน่งและอาวุโสสูงสุด ซึ่งได้รับคำสั่งมอบหมายจากหัวหน้าหน่วย หรือหัวหน้าหน่วยงาน ตามนัยระเบียบ บก.ตร.ว่าด้วยการกำหนดจำนวนในการแต่งตั้งและอำนาจหน้าที่ในการบังคับบัญชาพนักงานสอบสวน พ.ศ. 2555 เป็นหัวหน้างานสอบสวน

หน้าที่ของตำแหน่งในสถานีตำรวจ

1.หัวหน้าสถานีตำรวจ มีหน้าที่รับผิดชอบในการวางแผน อำนวยการสั่งการ ควบคุม กำกับ ดูแล ปกครองบังคับบัญชา ตรวจสอบติดตาม และประเมินผล ตลอดจนการฝึกอบรม โดยปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดในคดีอาญา ภายในเขตอำนาจความรับผิดชอบหรือเขตพื้นที่การปกครอง รวมทั้งความรับผิดชอบในด้านการงานและการปกครองบังคับบัญชาถัดรองลงไปจากผู้บังคับบัญชาในระดับกองบังคับการตำรวจนครบาล 1-9 หรือตำรวจภูธรจังหวัดเพื่อพัฒนาการบริหาร การป้องกันปราบปรามอาชญากรรม การรักษาความสงบเรียบร้อย รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน บริการสังคม ชุมชนและมวลชนสัมพันธ์ งานพิเศษ งานความมั่นคง และงานอื่นๆ กำหนดนโยบายการปฏิบัติงาน วางแผนการปฏิบัติงาน ติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจในสถานี ร่วมประชุมกับหน่วยงานอื่นในงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานของสถานีตำรวจ และติดต่อประสานงานกับหน่วยงานอื่น

2.หัวหน้าพนักงานสอบสวน โดยปฏิบัติตามที่กฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง หรือข้อบังคับ กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนโดยเฉพาะ การรวบรวมพยานหลักฐาน และการดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริง หรือพิสูจน์ความผิด และเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ

3.หัวหน้างานอำนวยการ มีหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้ปฏิบัติงานอำนวยการ รับผิดชอบเกี่ยวกับการวางแผน สั่งการ ควบคุม กำกับดูแล ตรวจสอบ ติดตามและประเมินผลงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนงานสถานีตำรวจ งานการบริหารบุคลากร การศึกษาการฝึกอบรม งานวิชาการ สวัสดิการ การพัฒนา การบริหารจัดการ งบประมาณ การเงิน การพัสดุ การพลาธิการและสรรพาวุธ การส่งกำลังบำรุง รวมทั้งลักษณะงานที่เกี่ยวข้องหรือเป็นส่วนประกอบเพื่อส่งเสริมหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานในสถานีตำรวจโดยจำแนกเป็นงานต่างๆ ดังนี้ งานนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนแม่บท แผนการปฏิบัติการ แผนประจำปี และแผนปฏิบัติการประจำของสถานีตำรวจ งานธุรการและสารบรรณทั่วไปของสถานีตำรวจ งานการศึกษา ฝึกอบรม สัมมนา ดูงาน ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ ปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องหรือตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา

4.หัวหน้างานป้องกันปราบปราม เป็นหัวหน้าผู้ปฏิบัติงานป้องกันปราบปรามรับผิดชอบเกี่ยวกับการอำนวยการ สั่งการ ควบคุม กำกับ ดูแล ตรวจสอบ ติดตามและประเมินผลงาน ตลอดจนปฏิบัติงานในด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติต่างๆ ที่มีโทษทางอาญาทุกฉบับงานคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ งานชุมชนและมวลชนสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งงานที่มีลักษณะเกี่ยวข้อง หรือเป็นส่วนประกอบของงานนี้ ในเขตพื้นที่ของสถานีตำรวจ เพื่อมิให้เกิดอาชญากรรมขึ้น โดยจำแนกออกเป็นงานต่างๆ ดังนี้ งานการข่าว งานจัดทำแผนที่ ระบบข้อมูลอาชญากรรม รวมทั้งจัดระบบข้อมูลเป้าหมายที่อาจเกิดอาชญากรรม และระบบข้อมูลทางสังคม ที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันระงับ ปราบปรามอาชญากรรม งานจัดตั้งจุดรับแจ้งเหตุ จุดตรวจ จุดสกัด และกำหนดมาตรการต่างๆ ในการป้องกันและปราบปรามมิให้อาชญากรรมเกิดขึ้น ตรวจสอบติดตามและประเมินผล วิจัยและพัฒนาการปฏิบัติตามนโยบายยุทธศาสตร์ แผนงานต่างๆ ในการป้องกันอาชญากรรม ปฏิบัติงานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับงานป้องกันปราบปรามและตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย

5.หัวหน้างานจราจร เป็นหัวหน้าผู้ปฏิบัติงานจราจร รับผิดชอบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้านจราจร วางแผน อำนวยการ สั่งการ ควบคุม กำกับ ดูแล ตรวจสอบ ติดตามและประเมินผลงานด้านการควบคุมจราจร จัดการ และบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการจราจร รวมทั้งงานจราจรตามโครงการตามพระราชดำริ และงานที่มีลักษณะเกี่ยวข้องหรือเป็นส่วนประกอบของงานนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาด้านจราจร ตลอดจนพื้นที่ที่มีการจราจรต่อเนื่องกัน โดยจำแนกออกเป็นงานต่างๆ ดังนี้ งานวางแผนจัดการและควบการจราจร ตลอดจนจัดทำแผนที่จราจรของพื้นที่รับผิดชอบ และของพื้นที่ที่มีการจราจรต่อเนื่อง งานศึกษาเก็บรวบรวมสถิติข้อมูลเกี่ยวกับจราจร และนำวิทยากรต่างๆ มาใช้ในงานจราจร งานให้ความรู้และการศึกษาอบรมผู้ปฏิบัติหน้าที่จราจร งานสอดส่อง ตรวจตรา แนะนำ ให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับเกี่ยวกับจราจร ปฏิบัติงานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับงานจราจรและตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย

6.หัวหน้างานสืบสวน เป็นหัวหน้าผู้ปฏิบัติงานสืบสวน รับผิดชอบเกี่ยวกับการวางแผนอำนวยการ สั่งการ ควบคุม กำกับ ดูแล ตรวจสอบ ติดตามและประเมินผลงานด้านการสืบสวนเกี่ยวกับคดีอาญาที่เกิดขึ้น รวมทั้งงานอื่นๆ ที่มีลักษณะเกี่ยวข้องหรือเป็นส่วนประกอบของงานนี้ในเขตพื้นที่ของสถานีตำรวจ เพื่อแสวงหาพยานหลักฐานและผู้กระทำความผิดอันเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนในการสืบสวนคดีอาญาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยจำแนกออกเป็นงานต่างๆ ดังนี้ งานสืบสวนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติต่างๆ ที่มีโทษทางอาญา และการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา งานพัฒนากำลังพล งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ เทคโนโลยี และวิทยากรต่างๆ เพื่อใช้ในการสืบสวน งานวางแผนสืบสวน งานสืบสวนหาข้อเท็จจริง  และหลักฐานเพื่อทราบรายละเอียดของการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นแล้ว งานสืบสวนภายหลังจากรู้ตัวผู้กระทำความผิด ทั้งที่เป็นคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของสถานีตำรวจ ปฏิบัติงานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับงานสืบสวนและตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย

 

 

Copyright © All rights reserved | This template is made with by Colorlib

Copyright © All rights reserved | Powered by KPK Computer

>> สอบถามข้อมูล/รับเรื่องร้องเรียน <<